สมรรถนะและการประเมินความต้องการจำเป็นเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ในศตวรรษที่ 21 ของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จังหวัดเลย
Competency and Need Assessment for Professional Development in 21st Century, Loei Province of Teachers in Social Studies, Religion and Culture Learning Substance
View/ Open
Date
2019Author
Patthraporn Kessunk | ภัทราพร เกษสังข์
Anuphum Kumyon | อนุภูมิ คำยัง
Grissayarat Phutthasen | กฤศนรัตน์ พุทธเสน
Orawan Kessunk | อรวรรณ เกษสังข์
Metadata
Show full item recordAbstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพที่เป็นจริงและความคาดหวังสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21, 2) จัดลำดับความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21 และ 3) ศึกษาแนวทางการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21 ของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จังหวัดเลย ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดเลย จำนวน 240 คน โดยการสุ่มแบบแบ่งชั้นตามสัดส่วน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21 โดยเลือกแบบเจาะจง จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบประเด็นสนทนากลุ่ม และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ประเมินความต้องการจำเป็น โดยการหาค่า Modified Priority Needs Index (PNImodified) ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพที่เป็นจริงสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่21 ของครู โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาองค์ประกอบแต่ละด้านของสมรรถนะพบว่า ด้านสมรรถนะประจำสายงาน สภาพที่เป็นจริงมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา คือ ด้านสมรรถนะทักษะในอนาคตและด้านสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ ส่วนความคาดหวังสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21 ของครูโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด หากพิจารณาองค์ประกอบแต่ละรายด้านของสมรรถนะ พบว่า ด้านสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ มีความคาดหวังสูงที่สุด รองลงมา คือ ด้านสมรรถนะประจำสายงาน และด้านสมรรถนะทักษะในอนาคต 2) ผลการศึกษาการจัดลำดับความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21 ของครู พบว่าสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21 ด้านที่มีความจำเป็นอันดับแรก คือ ด้านสมรรถนะการจัดการเรียนรู้สมรรถนะที่มีความต้องการจำเป็นพัฒนาอันดับสอง คือ ด้านสมรรถนะทักษะในอนาคต ส่วนสมรรถนะวิชาชีพครู ด้านสมรรถนะประจำสายงาน มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาอันดับสุดท้าย และ 3) แนวทางการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูในศตวรรษที่ 21 ของครู ในการพัฒนาสมรรถนะย่อยเรื่องการวิจัย คือ (1) สร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัย (2) การสร้างแรงจูงใจในการทำวิจัย (3) การอบรมให้ความรู้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ (4) จัดหาสิ่งสนับสนุนที่เอื้อต่อการทำวิจัย (5) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกับครูด้วยกันเอง (6) ผู้นำต้องสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาการทำวิจัย และ (7) มีระบบติดตามการทำวิจัย