พฤติกรรมของผู้บริโภคในจังหวัดตรังต่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
Consumer behavior toward food supplement in Trang province
View/ Open
Date
2019Author
Sutkanung Na ranong | สุดคนึง ณ ระนอง
Nopparat Mahee | นพรัตน์ มะเห
Rattanaporn Anantasuk | รัตนาพร อนันตสุข
Metadata
Show full item recordAbstract
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน โดยผู้บริโภคมีความคาดหวังถึงการป้องกันและรักษาโรค นอกเหนือจากประโยชน์ทางโภชนาการตามปกติเหมือนอาหารทั่วไป การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรมีการศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนการบริโภค การศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของผู้บริโภคในจังหวัดตรัง เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามโดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคจำนวน 400 คน ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผู้บริโภคส่วนใหญ่ (ร้อยละ 50) เลือกซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงสุขภาพ รองลงมาคือ กลุ่มควบคุมน้ำหนัก (ร้อยละ 27.8) โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะได้รับทราบข้อมูลจากแพทย์/เภสัช (ร้อยละ 58.0) ส่วนในด้านการซื้อเพื่อรับประทานผู้บริโภคส่วนมากซื้อให้กับตนเอง (ร้อยละ 52.3) สำหรับเหตุผลที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกมากที่สุด คือ เพื่อบำรุงร่างกาย (ร้อยละ 57.0) เมื่อทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยตัวแปรที่ใช้ในการวิเคราะห์มี 16 ตัวแปร ผลการวิเคราะห์ได้ปัจจัย 3 ปัจจัย โดยปัจจัยที่ 1 สามารถอธิบายความแปรปรวนทั้งหมดได้ ร้อยละ 55.508 ประกอบด้วย 6 ตัวแปร ซึ่งผู้วิจัยตั้งชื่อปัจจัยที่ 1 ว่า “ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์” ปัจจัยที่ 2 สามารถอธิบาย ความแปรปรวนทั้งหมดได้ ร้อยละ 12.269 ประกอบด้วย 7 ตัวแปร ซึ่งผู้วิจัยตั้งชื่อปัจจัยที่ 2 ว่า “ปัจจัยด้านการส่งเสริมการขายและช่องทางจำหน่าย” ปัจจัยที่ 3 สามารถอธิบายความแปรปรวนทั้งหมดได้ ร้อยละ 6.462 ประกอบด้วย 3 ตัวแปร ซึ่งผู้วิจัยตั้งชื่อปัจจัยที่ 3 ว่า “ปัจจัยด้านราคา” การศึกษาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อทำการผลิตและกำหนดแนวทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น